หินสี-ไข่มุก (Pearl)

03/09/2556 12:49:17
2,193

 

ไข่มุก (pearl) เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เป็นที่รู้จักกันดี  ในธรรมชาตินั้นไข่มุกเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นเองจากกระบวนการทางชีวเคมีภายในสิ่งมีชีวิตประเภทหอย พบได้ในตัวหอยตระกูลหอยกาบ ทั้งหอยน้ำจืดและหอยน้ำเค็ม การเกิดของไข่มุกนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความเหมาะเจาะอย่างมากตามธรรมชาติ กล่าวคือ

 1. ต้องมีหอยกาบในตระกูลที่ผลิตไข่มุกได้
 2. มีเศษกรวดทรายบริสุทธิ์ที่มีขนาดเหมาะสม
 3. มีการพัดพาในจังหวะที่เหมาะสมทำให้เศษกรวดบริสุทธิ์เข้าไปตกค้างอยู่ในกาบหอย
 4. มีความบริสุทธิ์ของน้ำ มีแสงสว่าง มีอากาศบริสุทธิ์ทำให้หอยดำรงชีวิตและเกิดกระบวนการสร้างไข่มุกได้
 5. มีช่วงเวลาการบ่มพักให้เกิดไข่มุกที่เหมาะสมคือ อย่างน้อย 3 ปี

 

ทั้งนี้กระบวนการสร้างไข่มุกนั้นเป็นกระบวนการที่หอยกาบตอบสนองต่อการรบกวนจากเศษกรวดบริสุทธิ์ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นในตัวหอย ทำให้มีการหลั่งสารในกลุ่มแคลเซียมที่เรียกว่า "มุก" ออกมาเคลือบเศษกรวดบริสุทธิ์นั้น และเมื่อมีการเคลือบอย่างต่อเนื่องจนได้เวลาเพียงพอก็จะเกิดเป็นไข่มุกในที่สุด

ไข่มุกเป็นที่รู้จักกันดีเป็นเวลาหลายพันปี ในอดีตมีการนำไข่มุกมาใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย โดยชนชาติจีนเป็นชนชาติที่นำไข่มุกมาใช้เป็นลำดับแรกๆ ของโลก ในภาษาจีน ไข่มุก จะเรียกว่า จู หรือ เตียงจู ชาวจีนถือว่า ไข่มุกเป็นสิ่งที่มีความบริสุทธิ์ เป็นของสำคัญที่เทพเจ้าประทานให้จากธรรมชาติ คนจีนยุคโบราณถือว่าไข่มุก เป็นของสูงค่า เป็นของคู่ควรสำหรับชนชั้นสูง หรือใช้สำหรับการถวายบูชาเทพเจ้าเท่านั้น ในสมัยโบราณไข่มุกจะถูกใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับพระราชวงศ์ โดยนิยมนำมาประดับในเครื่องทรงภูษา มงกุฎ และสร้อยสังวาล นอกจากนั้นแล้วยังนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการเตรียมเครื่องเสวยอีกด้วย โดยมีความเชื่อว่า ไข่มุก มีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยรักษาสมดุลการไหลเวียนของพลังชีวิต หรือ ชี่ มีคุณสมบัติช่วยชะลอวัย ทำให้ไม่แก่ไม่เฒ่า มีอายุยืน

 

คุณสมบัติทางชีวเคมีของไข่มุก

ไข่มุกเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เป็นสารประกอบชีวเคมีที่ถือว่ามีความบริสุทธิ์สูง ประกอบด้วยสารแคลเซียมคาร์บอเนต ประมาณ 90% สารออแกนิก 5 % (ที่สำคัญๆ ได้แก่ msi60, nacrein, msi31, prismalin-14 และ aspein) และที่เหลือเป็นน้ำ โดยองค์ประกอบหลักในกลุ่มแคลเซียมคาร์บอเนตนั้นจะเป็นผลึกที่คงรูป การสลายตัวนั้นจะใช้เวลามากนับร้อยปี ส่วนสารประกอบพวกสารออแกนิกเป็นองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ ที่มีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลของร่างกายตามที่ได้กล่าวมา ไข่มุกแท้นั้นจะมีความแข็งทนทาน ทนต่อกรดด่าง ตลอดจนความร้อนและความชื้น

ด้วยคุณสมบัติทางชีวเคมีอันวิเศษของไข่มุก ทำให้มนุษย์เรานำมาใช้ประโยชน์ต่อร่างกายเป็นระยะเวลาอันยาวนานแล้ว โดยการนำมาใช้ประโยชน์นั้นหลักๆ ได้แก่


     1. การนำมาบดเพื่อรับประทาน
     2. การนำมาใช้สำหรับบำรุงผิวพรรณ

สำหรับการนำมาบดรับประทานนั้น       ต้องอาศัยกระบวนการเตรียมที่จำเพาะจึงมีการใช้ในวงจำกัดกว่าการบำรุงผิวพรรณ ชาวจีนเป็นชนกลุ่มแรกที่มีการนำไข่มุกทำเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยนำไข่มุกบริสุทธิ์ที่ได้จากทะเลน้ำลึกมาบดผสมกับพวกสมุนไพร เตรียมทำเป็นครีมไข่มุกที่เรียกว่า เตียงจูกอ ชาวจีนโบราณเชื่อกันว่า หากใช้เตียงจูกอมาประทินผิวแล้วจะส่งผลให้ผิวพรรณดีไม่มีริ้วรอยเหี่ยวย่น ชะลอความแก่ ทำให้สาวและสวย ท้าทายกาลเวลา

 

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ของไข่มุกในการบำรุงผิวพรรณ

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ของไข่มุกมากมาย โดยประโยชน์ที่มีการยืนยันชัดเจนจากการรับประทานไข่มุก คือ ประโยชน์จากแคลเซียมในไข่มุกที่ช่วยรักษาโรคกระดูกพรุน (Srp Arh Celok Lek. 2009 Sep-Oct;137(9-10):518-23) และ ช่วยเสริมธาตุแคลเซียมสำหรับผู้ที่มีปัญหาแคลเซียมต่ำ (J Food Sci. 2008 Nov;73(9):H246-51) นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานประโยชน์ที่ใช้ในการบำรุงผิวพรรณมากมายที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการนานาชาติ เป็นที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ไข่มุกมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง ช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพผิวดี และมีคุณสมบัติทางด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย อาทิเช่น

1. ไข่มุก ช่วยในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เรียกว่า atopic dermatitis โดยผ่านการเสริมสร้างความทนทานของผิวหนังชั้นบน (Comp Biochem Physiol B Biochem Mol Biol. 2006 Sep;145(1):1-9)

2. ไข่มุก ช่วยลดกระบวนการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง จากการช่วยการรักษาความชุ่มชื้นและลดอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดการทำลายของผิวหนัง (J Cosmet Sci. 2010 Mar-Apr;61(2):133-45)

3. จากการศึกษาทางด้านแพทย์แผนจีน ไข่มุกได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์จริงในการชะลอวัยของผิวพรรณ (J Tradit Chin Med. 1988 Dec;8(4):247-50) และมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอันตรายของผิวพรรณจากการสัมผัสรังสียูวี (Zhongguo Zhong Yao Za Zhi. 1996 Oct;21(10):635-8)

4. การทดลองในหนูพบว่า ไข่มุก ช่วยให้มีการทำงานของเยื่อประสานใต้ผิวหนังอย่างมีสมดุล ทำให้ผิวหนังมีความคงทนเต่งตึง (Tissue Cell. 2000 Feb;32(1):95-101)

5. การทดลองในหนูพบว่า ไข่มุก ช่วยเสริมความแข็งแรงของคอลลาเจนใต้ผิวหนังช่วยให้บาดแผลประสานเร็วขึ้น (Pharm Biol. 2010 Feb;48(2):122-7)

 

 ที่มา: http://kristine-kokool.com/pearlseries/th/story-01.htm